การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นขั้นตอนสำคัญในการขยายธุรกิจ และมีความซับซ้อน ผู้นำเข้าต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อให้การนำเข้าสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด ในประเทศไทยก็มีข้อกำหนดและข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าบางประเภท หรือมีการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่สูงสำหรับสินค้าบางชนิด การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ อาจทำให้สินค้าถูกกักกัน ยึด หรือถูกส่งกลับ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายและความล่าช้า ทางทูเกตเตอร์จะมาแนะนำขั้นตอนการนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนและการดำเนินธุรกิจ สำหรับผู้นำเข้ามือใหม่หรือผู้ที่สนใจอยากจะนำเข้าสินค้า
ขั้นตอนการนำเข้าสินค้า
- จดทะเบียนพาณิชย์ และขอเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
- จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้นำเข้าสินค้าทุกชนิด เว้นแต่สินค้าพืชผลทางการเกษตรจะได้รับยกเว้น
- ขึ้นทะเบียน Paperless กับกรมศุลกากร เพื่อใช้ผ่านพิธีการศุลกากร ในขั้นตอนนี้ผู้นำเข้า สามารถดำเนินการด้วยตัวเอง หรือใช้บริการผ่านทูเกตเตอร์ก็ได้เช่นกัน
- หาสินค้าที่ต้องการนำเข้าจากประเทศต่างๆ โดยผู้ขายต้องสามารถยืนยันชื่อและที่อยู่ เพื่อใช้ในการส่งออกได้
- การยืนยันชื่อและที่อยู่ของผู้ขายสินค้า คือผู้ขายสินค้าต้องมีการลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกกับหน่วยงาน ณ ประเทศของผู้ผลิตสินค้า
- ตรวจสอบประเภทสินค้าและกฏเกณฑ์ในการนำเข้า เช่น
- อัตราภาษีนำเข้า (จำเป็นต้องตรวจสอบทุกครั้ง)
- ข้อห้ามและข้อจำกัดในการนำสินค้าเข้า เช่น
- อาหารสดและอาหารแปรรูปบางชนิด
- พืชและสัตว์บางชนิด
- อาวุธและวัตถุอันตราย
- สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
- เอกสารที่จำเป็นสำหรับการนำเข้า (จำเป็นต้องตรวจสอบทุกครั้ง) เช่น ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ใบอนุญาตต่างๆ
- มาตรฐานและข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัย
- ข้อกำหนดด้านบรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก
- วางแผนการนำเข้า โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ระยะเวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากร และระยะเวลาในการจัดเตรียมเอกสารเพื่อการนำเข้า เพื่อให้สินค้าถึงปลายทางตามเวลาที่กำหนด
- ติดต่อ สั่งซื้อสินค้า โดยผู้ซื้อจะออกเอกสารที่เรียกว่า ใบสั่งซื้อสินค้า (Purchase Order ) เพื่อให้ผู้ขายออกเอกสาร บัญชีราคาสินค้า (Invoice) และ ใบกำกับหีบห่อ (Packing List) เพื่อเป็นการยืนยันคำสั่งซื้อสินค้า ในขั้นตอนนี้จะมีเรื่องของเงื่อนไขการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ(Incoterms) เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งแต่ละเงื่อนไขจะเป็นตัวกำหนดความรับผิดชอบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
- ผู้ซื้อชำระเงินค่าสินค้าผ่านธนาคาร
- คัดเลือกผู้ให้บริการขนส่ง (Freight Forwarder) ที่เชื่อถือได้ เพื่อช่วยดำเนินการขั้นตอนการนำเข้า เช่น
- มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการขนส่งสินค้าประเภทของคุณ
- มีบริษัทตัวแทนอยู่ในประเทศของผู้ขายสินค้าหรือผู้ผลิต เพื่อประสานงานขั้นตอนการส่งออกและนำเข้า
- บริการเสริมต่างๆ เช่น การประกันภัยสินค้า การติดตามสถานะการขนส่ง
- ราคาและเงื่อนไขการให้บริการ
- จัดเตรียมเอกสารเพื่อการนำเข้า
- ใบขนสินค้าขาเข้า (Import Customs Entry)
- ใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of Lading) ทางอากาศ (Air Way Bill)
- บัญชีราคาสินค้า (Invoice)
- ใบกำกับหีบห่อ (Packing List)
- ใบอนุญาตสำหรับสินค้าควบคุมการนำเข้า (ถ้ามี) Import Permit
- ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificates of Origin) กรณีมีการขอลดอัตราภาษีอากร
- ใบแจ้งยอดเบี้ยประกัน (Insurance Premium Invoice)
- เอกสารอื่นๆ เช่น เอกสารแสดงส่วนผสม คุณลักษณะและการใช้งานของสินค้า (Material Safety Data Sheet), แค๊ตตาล็อก (Catalog)
- เมื่อสินค้ามาถึง ท่าเรือหรือสนามบินปลายทาง ผู้นำเข้าหรือตัวแทนผู้นำเข้า (Freight Forwarder)ดำเนินการติดต่อบริษัทขนส่งสินค้า เพื่อรับเอกสารใบสั่งปล่อยสินค้า (Delivery Order) โดยขั้นตอนนี้ผู้นำเข้าจะต้องชำระค่าใช้จ่ายขาเข้า (Local Charges) กับผู้ขนส่ง ให้เรียบร้อย
- ดำเนินผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าและชำระภาษีอากร
ปัจจุบันการชำระภาษี สามารถทำได้ 3 วิธี คือ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคาร และกรมศุลกากร โดย จัดเตรียมใบขนสินค้าขาเข้าและเอกสารเพื่อการนำเข้ายื่นต่อเจ้าหน้าศุลกากร เพื่อทำการตรวจปล่อยสินค้าออกจากอารักขาศุลกากร
- ขนส่งสินค้าไปยังผู้นำเข้าหรือผู้รับสินค้า เมื่อสินค้าได้รับการตรวจปล่อยเรียบร้อย จึงจะสามารถขนส่งไปยังผู้นำเข้าได้