Incoterms®

Incoterms® ย่อมาจาก International Commercial Terms ถูกกำหนดโดยหอการค้าระหว่างประเทศ “The International Chamber of Commerce” หรือ ICC

Incoterms® คือเงื่อนไขการขายที่กำหนดว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระเงิน และดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าในระหว่างการขนส่งตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลางทาง

ในเดือนกันยายน 2019 ICC ได้เผยแพร่ Incoterms® ฉบับล่าสุด ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “Incoterms® 2020“ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญบางประการใน  Incoterms® ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นมา

Incoterms® 2020 สามารถนำไปใช้กับสัญญาซื้อขายทั้งหมด ยกเว้นคู่สัญญาจะระบุว่าต้องการใช้ Incoterms® 2010 ต่อไป

การเปลี่ยนมาใช้ Incoterms® 2020 ไม่ใช่ข้อบังคับ ดังนั้น คู่สัญญาบางรายอาจยังคงใช้ Incoterms® 2010 ต่อไป

Incoterms® นั้นเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ

Incoterms® rules
คือข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นมาตรฐาน และช่วยเหลือผู้ประกอบการเมื่อสินค้าถูกขายและขนส่ง ซึ่งจะระบุ ภาระผูกพันของแต่ละฝ่าย (Task) เช่น ใครเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการต่าง ๆ เช่น การขนส่ง พิธีการศุลกากรนำเข้าและส่งออก จุดที่ความเสี่ยงภัย (Risk) ในการขนส่งถูกเปลี่ยนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ และระบุว่าใครจะผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย (Cost) ในการจัดส่ง การประกันภัย

ดังนั้นการที่ Incoterms® ถูกระบุไว้ในสัญญาซื้อขาย จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเข้าใจอย่างชัดเจนในเรื่องของหน้าที่และความรับผิดชอบ ในกรณีที่เกิดการสูญเสีย ความเสียหาย หรือเหตุร้ายอื่นๆ

ใน Incoterms® นั้นแต่ละเทอมจะมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการขอใบอนุญาตนำเข้าหรือหนังสืออนุญาตอย่างเป็นทางการอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าและการดำเนินพิธีการศุลกากร และยังกำหนดด้วยว่าฝ่ายใดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเหล่านี้

ในเรื่องของการประกันภัยสินค้า (Insurance) แต่ละเทอมจะกำหนดว่าใคร (หากมี) จะต้องจัดหาความคุ้มครองประกันภัยสินค้า และใคร (หากมี) มีการหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้
 
สุดท้ายเรื่องของการจัดส่งสินค้า Incoterms® แต่ละตัวจะระบุภาระผูกพันของผู้ขายในการจัดส่งสินค้า และกำหนดว่าการจัดส่งสินค้านั้นเกิดขึ้นเมือไหร่ รวมทั้งกำหนดจุดที่ความเสี่ยงของการสูญหายและความเสียหายของสินค้าที่ส่งออกเปลี่ยนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ
 
เทอมการขนส่งทางทะเลหรือทางน้ำภายในประเทศเท่านั้น (Transport by sea or inland waterway only) โดยปกติควรใช้กับสินค้าเทกอง Bulk Cargos และสินค้าที่ไม่ได้บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ Non-containerized goods
  •  สินค้าเทกอง (Bulk Cargos)  เช่น น้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น และ
  • สินค้าที่ไม่ได้บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ (Non-containerized goods) ซึ่งผู้ส่งออกสามารถโหลดสินค้าลงบนเรือโดยตรง
เทอมการขนส่งทุกรูปแบบ (Any transport mode) จะเหมาะสมกับการขนส่งสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ (Containerized goods) มากกว่า 
 
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเทอมของสองกลุ่มนี้คือ จุดที่ความเสี่ยงเปลี่ยนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ตัวอย่างเช่น เทอม Free on Board (FOB) ระบุว่าความเสี่ยงภัยจะโอนเมื่อสินค้าถูกโหลดบนเรือแล้ว ส่วนเทอม Free Carrier (FCA) ระบุว่าความเสี่ยงภัยจะถูกโอนให้กับผู้ซื้อเมื่อผู้ขนส่งเข้ามารับผิดชอบดูแลสินค้า
 
อีกวิธีการที่ใช้ในการจำแนกเทอมแต่ละตัว คือการพิจารณา
1 ใครเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งหลัก (ผู้ซื้อหรือผู้ขาย)
2 หากผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งหลัก ความเสี่ยงภัยจะผ่านจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ณ จุดไหน ก่อนการขนส่งหลักหรือหลังการขนส่งหลัก

  ด้วยวิธีการนี้จะจำแนกเทอมได้เป็น 4 กลุ่ม
  1. ผู้ซื้อรับผิดชอบการขนส่งทั้งหมด (EXW)
  2. ผู้ซื้อรับผิดชอบการขนส่งหลัก (FAS, FOB, FCA)
  3. ผู้ขายรับผิดชอบการขนส่งหลัก ความเสี่ยงภัยจะเปลี่ยนหลังจากผ่านการขนส่งหลัก (DPU, DAP, DDP)
  4. ผู้ขายรับผิดชอบการขนส่งหลัก แต่ความเสี่ยงภัยจะเปลี่ยนก่อนการขนส่งหลัก (CFR, CIF, CPT, CIP)
แม้ว่าผู้ขายจะเป็นผู้จ่ายค่าขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ระบุ แต่ความเสี่ยงภัยจะโอนไปยังจุดก่อนหน้าในระหว่างการขนส่ง เช่น ภายใต้เทอม CIP New York, NY Incoterms 2020  สินค้าถูกส่งจาก Bangkok ไป New York ผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งไปยัง New York แต่ความเสี่ยงภัยจะโอนไปให้ผู้ซื้อเมื่อสินค้าส่งมอบให้กับผู้ให้บริการขนส่งที่ Bangkok ก่อนการขนส่งหลัก
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้