60855 จำนวนผู้เข้าชม |
ความรู้เรื่องระบขนส่งกับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์
การที่สินค้าถูกส่งจากมือผู้ส่งออก จนกระทั่งถึงมือผู้นำเข้านั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการขนส่ง 3 ขั้นตอนดังนี้
1. สินค้าถูกส่งจากสถานที่ของผู้ส่งออกต้นทาง (Origin Place) ไปยังท่าเรือต้นทาง (Port of Loading)
2. สินค้าถูกส่งจากท่าเรือต้นทางไปยังท่าเรือปลายทาง (Port of Destination)
3. สินค้าถูกส่งจากท่าเรือปลายทางไปยังสถานที่ของผู้นำเข้าปลายทาง (Destination Place)
การขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ในปัจจุบันได้รับความนิยมทั่วไป สามารถขนส่งได้ทั้งทางเรือ ทางรถยนต์ และทางรถไฟ ทำให้สินค้าส่งไปยังจุดหมายปลายทางได้ตรงเวลา สะดวกสบาย และสามารถป้องกันการเสียหายของสินค้าได้มาก
คุณสมบัติของตู้คอนเทนเนอร์แบบมาตรฐาน (Standard Container)
- แข็งแรง ทนทาน ทนต่อการใช้งานเป็นอย่างดี
- ออกแบบเป็นพิเศษให้เหมาะกับการใช้งานขนส่งทางบกและทางน้ำ โดยไม่ต้องถ่ายสินค้าลงกลางทาง
- ออกแบบให้สะดวกต่อการขนส่งสินค้าขึ้น – ลง
- ภายในได้รับการออกแบบให้มีเนื้อที่บรรจุสินค้าตั้งแต่ 1 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
มาตรฐานความกว้าง ความยาว ความสูงของตู้คอนเทนเนอร์ที่กำหนดโดยองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 มีดังนี้
1. กว้าง 8 ฟุต สูง 8 ฟุต ยาว 40 ฟุต
2. กว้าง 8 ฟุต สูง 8 ฟุต ยาว 30 ฟุต
3. กว้าง 8 ฟุต สูง 8 ฟุต ยาว 20 ฟุต
4. กว้าง 8 ฟุต สูง 8 ฟุต ยาว 10 ฟุต
5. กว้าง 8 ฟุต สูง 8 ฟุต ยาว 8 ฟุต
จะเห็นได้ว่ามาตรฐานของตู้คอนเทนเนอร์ที่ ISO กำหนดให้ใช้อยู่ในปัจจุบันมี ความสูง ความกว้าง เท่ากันหมด จะต่างกันตรงที่ความยาวเท่านั้น ขนาดตู้ที่นิยมใช้ในทุกวันนี้คือ ตู้ 20 ฟุต กับตู้ 40 ฟุต
ตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งได้ตามลักษณะของสินค้าที่บรรจุได้ 4 แบบด้วยกันคือ
1. ทั่วไป (Dry Cargo Container)
a. ตู้แห้งธรรมดา เป็นตู้ที่ใช้มากที่สุด ภายในไม่ได้บุฉนวนกันความร้อน ไม่มีเครื่องทำความเย็น ใช้บรรทุกสินค้าทั่วไป ที่ไม่มีปัญหาต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายในตู้
b. ตู้ระบบอากาศ (Ventilated Container) ลักษณะเหมือนกับตู้ธรรมดา แต่ติดพัดลมดูดอากาศเพิ่มเข้าไป ใช้สำหรับบรรทุกสินค้าที่ต้องการระบายอากาศ เช่น ผลไม้บางชนิด
c. ตู้เปิดหลังคา (Open top Container) มีรูปร่างลักษณะเหมือนกับตู้ธรรมดา แต่หลังคาจะทำด้วยผ้าใบ ผ้าใบนี้สามารถถอดและติดตั้งได้สะดวก ใช้บรรจุสินค้าประเภทที่หนัก และมีขนาดใหญ่ เช่น เครื่องจักร ซึ่งส่วนมากเวลาบรรจุสินค้าเข้าตู้จะใช้ปั้นจั่นยกสินค้าเข้าทางหลังคา เมื่อสินค้าเข้าตู้แล้วจึงจะใช้ผ้าใบปิดเพื่อกันน้ำฝนหรือน้ำทะเล
d. ตู้พื้นเรียบ (Flat Rack Container) ตู้ชนิดนี้ไม่มีรูปร่างลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงพื้นที่เรียบกับแผ่นกั้นหน้ากั้นหลัง 2 แผ่นเท่านั้น ใช้สำหรับบรรทุกสินค้าที่มีขนาดความกว้าง ความสูงเกินกว่า ความกว้างและความสูงของตู้ทั่วไป เช่น ซุง เครื่องจักร เหล็กแท่ง รถยนต์ เป็นต้น
e. ตู้บรรทุกรถยนต์ (Car Container) ตู้ชนิดนี้มีโครงสร้างที่สำคัญคือ พื้นตู้กับเสา ยึด 4 ด้านเท่านั้น
2. ตู้รักษาอุณหภูมิ
a. ตู้ห้องเย็น (Reefer Container) ตัวตู้ทำจากวัสดุกันความร้อน และภายในบุด้วนฉนวนกันความร้อน ตู้ชนิดนี้เหมาะสำหรับการบรรจุอาหารแช่แข็งต่างๆ เช่น กุ้ง ไก่ หมู ปลา และสัตว์อื่นๆ ได้
b. ตู้ฉนวน มีโครงสร้างเหมือนกับตู้เย็น ต่างกันตรงที่ไม่มีเครื่องทำความเย็น แต่มีที่ระบายอากาศ ส่วนมากบรรทุกสินค้าจำพวกผักและผลไม้ต่างๆ ได้
3. ตู้บรรทุกสินค้าที่เป็นของเหลว (Fluid Tank Container) ตู้ชนิดนี้มีโครงสร้างที่สำคัญคือ พื้นตู้กับเสายึดทั้ง 4 มุมบนพื้นที่จะติดตั้งแท่งเหล็กกลมยาวไว้อย่างถาวร ใช้บรรทุกสินค้าประเภทที่เป็นของเหลว เช่น เครื่องดื่ม อาหาร และเคมีภัณฑ์ น้ำมัน เป็นต้น
4. ตู้ชนิดพิเศษ (Special Container) ได้แก่
a. ตู้สำหรับบรรทุกสัตว์ (Live Stock Container)
b. ตู้สำหรับบรรทุกสินค้าเกษตร (Bulk Container)
c. ตู้สำหรับเปิดข้าง (Sideloading Container) ตู้ชนิดนี้ออกแบบมาโดยสามารถเปิดข้างออกได้ สำหรับสินค้าที่ขนาดยาวและจำเป็นต้องบรรจุเข้าตู้ทางด้านข้าง
The dimensions shown above are for guidance only since individual containers can vary slightly.
Please always refer to the right-hand container door for the precise specifications.