SOLAS - VGM มาตรการรองรับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์

53694 Views  | 

SOLAS - VGM มาตรการรองรับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์

VGM เป็นคำที่หลายคนคงได้ยินและคุ้นหูมากในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ และคงอยากรู้กันว่า VGM ที่ได้ยินมานั้น หมายความว่าอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมต้องใช้กับการขนส่งสินค้า

VGM มาจากคำเต็มว่า Verified Gross Mass ถ้าจะแปลตรงตัวง่ายๆ คือ การยืนยันปริมาณมวลรวม แต่เมื่อนำมาใช้ในการขนส่งสินค้า จึงหมายถึง การยืนยันปริมาณรวมของน้ำหนักทั้งหมดของสินค้าและสิ่งของทุกอย่างที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์รวมถึงน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์ด้วย หรือเรียกง่ายๆ ว่า การยืนยันน้ำหนักตู้สินค้านั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้ผู้ส่งออกสินค้า และผู้จัดการขนส่งสินค้าต้องจัดหาข้อมูล VGM เพื่อแจ้งให้กับสายการเดินเรือ เนื่องมาจากที่ผ่านมามีการแจ้งน้ำหนักที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่การเดินเรือ และลูกเรือ ดังจะเห็นได้จากอุบัติเหตุทางทะเลที่เกิดกับเรือบรรทุกสินค้า องค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ(IMO) จึงได้ออกมาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้าภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยชีวิตทางทะเล (SOLAS) เพื่อมาบังคับใช้ให้เกิดความปลอดภัย

ใครเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการแจ้ง VGM ? ผู้ส่งออกสินค้าที่มีชื่อบนBL หรือใบตราส่งสินค้า จะเป็นผู้รับผิดชอบในการแจ้ง ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่ ระบุบนเอกสาร Shipping Particular (SI) หรือระบุในใบกำกับการขนย้ายสินค้า เป็นต้น สิ่งที่สำคัญเมื่อระบุ VGM ลงบนเอกสารแล้ว ต้องมีการแจ้งชื่อ หรือลงชื่อผู้ที่ให้ข้อมูลบนเอกสารด้วย

เราต้องแจ้ง VGM เมื่อไหร่ ที่จะทำให้ตู้สินค้าสามารถขึ้นบนเรือ และส่งออกไปยังจุดหมายปลายทาง คำตอบนั้นคือ ผู้ส่งออกต้องทำกาแจ้งก่อนที่ตู้สินค้าจะบรรทุกขึ้นเรือ หรือ 24 ชั่วโมงก่อน Cut off time นั่นเอง และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเอาน้ำหนักอะไรบ้างมารวมเป็น VGM ถึงจะถูกต้องตามข้อกำหนด มีวิธีการหาน้ำหนัก VGM 2 วิธี

วิธีที่ 1 คือ ชั่งน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ที่บรรจุสินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่จะส่งออก โดยชั่งครั้งละตู้คอนเทนเนอร์

วิธีที่ 2 คือ Gross weight ของสินค้าทั้งหมดที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ บวกกับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์(Tare weight) โดย Tare weight สามารถดูได้ที่ด้านหน้าประตูตู้คอนเทนเนอร์

สิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อได้VGM มาแล้วด้วยวิธีการใดก็ตาม VGM จะต้องไม่เกิน MAX. GROSS คือน้ำหนักที่มากสุดที่ตู้คอนเทนเนอร์สามารถรับบรรทุกได้ ซึ่งน้ำหนักนี้จะแสดงอยู่บนหน้าประตูตู้คอนเทนเนอร์ ถ้า VGM เกินจาก MAX. GROSS จะไม่สามารถนำตู้สินค้า/ตู้คอนเทนเนอร์นั้นขึ้นเรือรับบรรทุกได้ ทำให้สินค้าไม่สามารถส่งถึงจุดหมายปลายทาง

ประเทศไทยได้กำหนดให้มีการแจ้งข้อมูล VGM กับตู้สินค้า/ตู้คอนเทนเนอร์ที่เรือบรรทุกออกจากท่าเรือ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป เห็นแล้วว่าการหา VGM นั้นไม่ยากอย่างที่คิด แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขนส่งสินค้า.

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy